KH Academy ผนึก “มหิดลอินเตอร์” พัฒนาเยาวชน สู่บุคลากรคุณภาพตลาดทุนไทย

KH Academy ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) พัฒนาคุณภาพของเยาวชนระดับอุดมศึกษาด้านการเงินและบริหารธุรกิจ มุ่งผลิตบุคลากรคุณภาพออกสู่ตลาดทุนไทย


นายบูรพา สงวนวงศ์ ผู้บริหาร สถาบันการเรียนรู้ KH Academy และ ศ.พญ.จุฬธิดา โฉมฉาย คณบดี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในการร่วมกันยกระดับคุณภาพเยาวชนระดับอุดมศึกษาด้านการเงินและการบริหารธุรกิจ โดยมุ่งเสริมสร้างทักษะความรู้เฉพาะทาง พร้อมผลิตบุคลากรคุณภาพออกสู่ตลาดทุนไทยและองค์กรภาคธุรกิจในอนาคต ซึ่งพิธีดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารอทิตยาทร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โดยมีสักขีพยานการลงนาม ประกอบด้วย คณะผู้บริหารจากหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจและสถาบัน KH Academy ได้แก่ นายศิริโรจน์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวและพัฒนาธุรกิจ นสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ นายณัฐภัทร เงาวิศิษฎ์กุล Co-Founder นางวรรณวิสา พันธุ์โอสถ Co-Founder Director of Partner Relations สถาบัน KH Academy และคณะอาจารย์ เจ้าหน้าที่จาก MUIC ได้แก่ ผศ.ดร.ชมพูนุช ผ่องจิตร์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษา ผศ.ดร.ธนฤกษ์ ธนกิจสมบัติ ประธานกลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ ผศ.ดร.ภาสวรรณ สุนทรารักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาการเงิน

ด้านนายบูรพา สงวนวงศ์ เปิดเผยที่มาความร่วมมือระหว่าง KH Academy กับ MUIC ว่า สถาบัน KH Academy ก่อตั้งขึ้นภายใต้พันธกิจของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ที่รับใช้ประชาชน นักลงทุน ด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในแวดวงตลาดทุน ซึ่งก็คือการให้ความรู้รูปแบบหนึ่ง ขณะที่ KH Academy เป็นการให้ความรู้ที่มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดใหม่เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมตลาดทุน การผนึกกำลังกันครั้งนี้ถือเป็นการนำเอาจุดแข็งของทั้งสองฝั่งมารวมกัน ในส่วนของคณะบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะภาควิชาการเงินที่เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนโดยตรงนั้น MUIC มีความโดดเด่นอย่างมากด้วยการนำเอาหลักสูตรของ CFA

ซึ่งเป็นใบประกอบวิชาชีพในระดับสากลมาเป็นตัวกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน ถือเป็นจุดแข็งในด้านของทฤษฎี ดังนั้น เมื่อนำมาผนึกรวมกับแนวทางของ KH Academy ซึ่งเน้นภาคปฏิบัติ ก็เท่ากับเป็นการช่วยให้นักศึกษาที่มีการเรียนรู้ทางด้านทฤษฎีที่เข้มข้นมาประยุกต์ใช้กับการลงมือปฏิบัติจริง

อย่างที่เห็นว่าโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว แน่นอนอุตสาหกรรมการเงินการลงทุนก็มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีการนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้อยู่ตลอด ซึ่งเรื่องของตลาดทุนปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นกลไกสำคัญตัวนึงของเศรษฐกิจ ส่วนตัวผมมองว่าถ้าเราได้เรียนรู้เรื่องของ capital market มากขึ้น

ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ก็น่าจะช่วยทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจริงๆ ไม่จำกัดวงเฉพาะคณะสาขาบริหารธุรกิจ KH Academy เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาที่มีความฝันและความตั้งใจ ได้มีโอกาสเริ่มต้นเร็วกว่าคนอื่น แน่นอนว่า 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย น้อง ๆ ได้รับการฟูมฟักในด้านทฤษฎีอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนของ KH Academy จะมาช่วยเติมเต็มในการเปิดโอกาส ลองปฏิบัติ ลงมือปฏิบัติ ได้นำเอาสิ่งที่ได้จากการเรียนมาใช้ในชีวิตจริง ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ด้วยวิชาชีพในตลาดเงินตลาดทุนเป็นวิชาชีพที่ส่วนใหญ่จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งการที่ได้มาเรียนที่ KH Academy จะช่วยให้น้อง ๆ รู้ถึงเส้นทางของตัวเอง ได้รู้ถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการเพื่อให้สามารถเริ่มต้นได้เร็วกว่าคนอื่น ๆ”

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ธนฤกษ์ ธนกิจสมบัติ ประธานกลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจ MUIC ที่ระบุว่า ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้นักศึกษามีทักษะและความรู้ที่พร้อมจะก้าวสู่การประกอบอาชีพในตลาดทุนและองค์กรภาคธุรกิจอย่างมืออาชีพ  คณะบริหารธุรกิจของ MUIC ซึ่งมีโปรแกรมหลักสูตร CFA Affilated ที่มีเนื้อหาภาคทฤษฎีในห้องเรียนเทียบระดับมาตรฐานสากล จึงผนึกกำลังกับสถาบัน KH Academy ในการติดอาวุธเสริมทักษะให้กับนักศึกษาในเรื่องของประสบการณ์จริง รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้รู้จักบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรม มีโอกาสได้ฝึกงาน ได้เห็นภาพจริงในการทำงาน ซึ่งจะเป็นส่วนเติมเต็มที่ดีอย่างมากให้กับนักศึกษาของเรา

“จริงๆ ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจแน่นอนว่าคงต้องมีเรื่องของเน็ตเวิร์ค เพราะฉะนั้นการได้ออกไปรู้จัก ได้รับประสบการณ์จากผู้ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรม คงจะเป็นใบเบิกทางที่ดีสำหรับนักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องของเส้นทางการประกอบอาชีพในตลาดทุน อย่างเช่น อาชีพที่ปรึกษาทางการเงิน นักวิเคราะห์ฯ portfolio manager รวมถึงสามารถรับมือกับสถานการณ์จริงในโลกธุรกิจ ผมคิดว่า โปรแกรม และลักษณะความร่วมมือแบบนี้จะเป็นโอกาสที่ดีและน่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าการศึกษา Financial Literacy ที่ให้ทั้งประสบการณ์ โอกาส และภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับก้าวสู่การประกอบวิชาชีพในอนาคต” ผศ.ดร.ธนฤกษ์ กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button