CPF โชว์กระบวนการผลิตอาหารเน้นใช้ทรัพยากรช่วยลดโลกร้อน

CPF ต้นแบบองค์กรลดโลกร้อน โชว์กระบวนการผลิตอาหารยั่งยืน ลดปริมาณการสูญเสีย (FOOD LOSS) และของเสียจากการเหลือทิ้ง (FOOD WASTE) ตลอดวงจรชีวิตของอาหาร (Food life cycle) ควบคู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเส้นทางการผลิตสีเขียวตามหลักประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle Assessment) ตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ตลอดจนการส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่มือผู้บริโภคอย่างยั่งยืน


นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF  เปิดเผยว่า จากข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) รายงานว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของผู้คนทั่วโลกถูกทิ้งให้สูญเปล่าเป็นขยะและของเสียอย่างมหาศาล  ซึ่งคิดเป็นปริมาณอาหารรวมกว่า 1.3 พันล้านตันต่อปี โดยมาจากตลอดวงจรชีวิตของอาหาร (Food life cycle) ซีพีเอฟได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการสูญเสียอาหาร (Food Loss) จึงมุ่งมั่นบริหารจัดการทรัพยากรที่หลากหลายซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้โครงการ “ผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน” (CPF’s Product Sustainability)  เพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหาร รวมไปถึงการนำของเสียกลับมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ

อาหารทุกอย่างล้วนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการสูญเสียทรัพยากรทั้งน้ำ พื้นที่ดิน พลังงานและแรงงานที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต หากเราทิ้งอาหารไปเท่ากับว่า เราทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะอาหารเหลือทิ้งหรือขยะเหล่านั้น ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 23 เท่า

ในธุรกิจครบวงจรไก่ ของซีพีเอฟ ที่อยู่ในโครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน ได้นำของเสียที่เกิดในห่วงโซ่อาหารกลับเข้ามาใช้ในวงจรการผลิต ยกตัวอย่าง การใช้เศษวัสดุทางการเกษตร อาทิ ซังข้าวโพด กะลาปาล์ม เปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ กลับมาเป็นพลังงานชีวมวล โดยปริมาณ 12,000 ตัน เทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าปริมาณ 54 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

โดยมีค่าเท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการเปิดไฟ 1 ชั่วโมง ได้จำนวนถึง 1,500 ล้านดวง ซึ่งหากเศษวัสดุถูกฝังกลบ จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 38,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า , การนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นพลังงานไบโอดีเซลในการขนส่ง นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน ยังช่วยให้สังคมมีสุขภาพดี ด้วยการตัดวงจรการใช้น้ำมันพืชเก่าเพื่อการบริโภคและเป็นต้นแบบในการพัฒนาการลดก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐ , การนำมูลสัตว์กลับมาเป็นปุ๋ยในแปลงเพาะปลูกใหม่ภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ กลับมาใช้ในการเพาะปลูก , การนำน้ำเสียจากโรงงานแปรรูปอาหารกลับเข้าสู่ระบบบำบัดเพื่อนำกลับมาเป็นพลังงานไบโอแก๊ส ช่วยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล  และการน้ำเสียที่บำบัดแล้วนำไปกลับไปใช้ใหม่ เช่น รดน้ำต้นไม้

จากผลลัพธ์ของการใช้ของเสียหรือ food waste มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จึงนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน รวมถึงการได้รับฉลากลดโลกร้อนหรือฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ผลิตภัณฑ์ไก่สดซีพีเอฟได้รับ “ฉลากลดโลกร้อน”  ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่ของไทยสูงถึง 50% ล่าสุดไก่เนื้อ และ ลูกไก่เนื้อ ยังได้รับการรับรองฉลากลดโลกร้อนด้วยเช่นกัน นับเป็นอีกจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

 

Back to top button