BBL ผ่านช่วงแย่ที่สุดไปแล้ว แนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 220 บ.
BBL ผ่านช่วงแย่ที่สุดไปแล้วแนะซื้อราคาเป้าหมาย 220 บ.
บล.เคจีไอ ระบในบทวิเคราะห์วันนี้(11 ก.ย.) ว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เป็นหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ที่จะได้อานิสงส์จากการที่ภาวะเศรษฐกิจมหภาคฟื้นตัวขึ้นโดย GDP โต 3.3% ใน ไตรมาส1/60, 3.7% ใน ไตรมาส2/60 (จาก 3.2% ในปี 2559)และคาดว่าจะโตได้ถึงเกือบ 4% ใน ครึ่งหลังปีนี้ (ทำให้ GDP ปีนี้ทั้งปีโตได้ 3.8%) และจะเร่งตัวขึ้นเป็นประมาณ 4.2% ในปี 2561 เราคาดว่าการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นจะนำการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน (ซึ่งเริ่มฟื้นตัวใน ไตรมาส2/60)และหนุนให้การบริโภคในประเทศเร่งตัวขึ้นใน ครึ่งหลังปีนี้
มองว่าสถานการณ์ NPL ของ BBL ขยับตามฤดูกาลและมีรูปแบบที่แน่นอนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นจังหวะที่ NPL อยู่ในขาขึ้น โดย NPL มักจะเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางในไตรมาสแรก และเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่สองและสาม ก่อนที่จะชะลอตัวลงในไตรมาสที่สี่ เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างหนี้ และ write-off หนี้เสียเพิ่มขึ้น และเนื่องจากคาดว่า GDP จะโตได้อย่างแข็งแกร่งใน ครึ่งหลังปีนี้ และปี 2561 จึงมองว่า NPL น่าจะอยู่ที่จุดสูงสุดของวัฎจักรรอบนี้แล้ว และน่าจะลดลงได้อย่างรวดเร็วหลังจากที่มีการ write-off หนี้เสียก้อนใหญ่ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปที่ตอนแก้หนี้เสียในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารมีการ write-off หนี้เสียก้อนใหญ่สองครั้ง i.) 1999-2000 ii.) 2003-2005
คิดว่าวัฏจักรขาขึ้นของ NPL รอบนี้ไม่สาหัสเหมือนช่วงปี 2546-2548 เพราะสัดส่วน NPL ในช่วงนั้นสูงถึงเกือบ 20% โดยมูลค่า NPL รวมอยู่ที่ประมาณ 2.10 แสนล้านบาท ซึ่งจากความพยายามแก้ไข NPL ในช่วง 3 ปีนั้น ธนาคารได้ write-offหนี้เสียไปประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 40% ของหนี้เสียในขณะนั้น)ซึ่งดึงให้สัดส่วน NPL ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 10-12% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ หากเราใช้สมมติฐานว่า BBL จะแก้ปัญหา NPL ในปัจจุบันด้วยวิธี write-offหนี้เสีย เราคิดว่าส่วนรองรับหนี้เสียของ BBL ที่มีอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก็เพียงพอที่จะ write-off หนี้เสียได้ในคราวเดียวถึง 60% ของ NPL ในปัจจุบัน
จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในปี 2561 ประเมินแบบระมัดระวังว่าธุรกิจของ BBL จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น โดย upside ของประมาณการกำไรของเราจะมาจากอัตราการฟื้นตัวของคุณภาพสินทรัพย์และ NIM จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ก่อนกำหนด เราใช้สมมติฐานอัตราการเติบโตของสินเชื่อปี 2560/61ที่ 5%/8%, NIM ที่ 2.4%/2.4%, non-NII growth ที่ 15%/5% และสัดส่วนต้นทุน/รายได้ที่ 51%/50% เราขยับไปใช้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้าที่ 220 บาท (เพิ่มขึ้นจากเดิม 189 บาท) อิงจากกำไรเฉลี่ย 2 ปีข้างหน้า และใช้ P/E ที่10x และP/BV ที่ 1.0x พร้อมทั้งปรับเพิ่มคำแนะนำจากถือเป็นซื้อ