TICON เน้นการลงทุนตปท. มากขึ้นมิตซุยเล็งเข้ามาลงทุนเป็นปัจจัยบวก

บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ให้ราคาเหมาะสม TICON ที่ 13.69 บาท Div Yield ที่ 3.5% ไม่จูงใจเหมือนในอดีต จึงคงคำแนะนำ “ขาย” แต่เชื่อว่าประเด็นที่กลุ่มมิตซุยจากญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุนถือหุ้น และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ROJNA อาจสร้างแรงหนุนเก็งกำไรต่อราคาหุ้นในระยะสั้นได้


บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ระบุในบทวิเคราะห์ (10 มิ.ย.) ผู้บริหารของบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON เปิดเผยว่า ได้เลื่อนแผนการขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ไปเป็นไตรมาส 4/58 ทีเดียวจากกำหนดการเดิมที่จะแบ่งมาขายในไตรมาส 2/58 ราว 500 ล้านบาท เนื่องจากมีความยุ่งยากเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ของก.ล.ต. หากแบ่งการขายออกเป็น 2 ไตรมาส จึงทำให้ผลประกอบการไตรมาส 2/58 น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่จะฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนตามรายได้ค่าเช่าที่จะเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ปล่อยเช่า โดยเฉพาะในส่วนของคลังสินค้าที่เริ่มมีความต้องการจากลูกค้าเข้ามามากขึ้นส่วนผลประกอบการไตรมาส 4/58 จะเป็นจุดสูงสุดของปี ตามการรับรู้รายได้จากการขายสินทรัพย์ราว 3.9-4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามด้วย Gross Properties Sales Margin ที่น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำราว 30% อันเป็นผลจากการมีสัดส่วนการขายที่เป็นคลังสินค้า Built-to-suit จำนวนมาก ซึ่งมี Margin ต่ำ โดยรวมฝ่ายวิจัยจึงยังประเมินกำไรสุทธิปี 2558 ที่ 954.5 ล้านบาท แม้เพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนแต่เป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ

ขณะที่ บริษัทวางงบลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2558-2563) ไว้ราว 5 หมื่นล้านบาท โดยทิศทางของธุรกิจพัฒนาโรงงาน/คลังสินค้าให้เช่าในประเทศที่ไม่สดใสนัก สะท้อนจากอัตราเช่า (Occupancy Rate) ที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 58-60% ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา จึงทำให้ TICON ต้องมุ่งเน้นขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น เริ่มต้นจากการลงทุนในบริษัทร่วม PT SLP Surya TICON Internusa (SLP) ที่ประเทศอินโดนิเซีย ด้วยงบลงทุน 375 ล้านบาท ซึ่งจะมีการพัฒนาคลังสินค้าเฟสแรกราว 3.4-3.5 หมื่นตารางเมตร ที่พร้อมจะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 25% เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังของปี 58

นอกจากนี้ TICON ยังมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม และพม่า (คาดเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้) จึงเชื่อว่ารายได้ของ TICON จากต่างประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้ 25% ของรายได้รวม

โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานอิง PER ที่ 16 เท่า (ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี) ได้ราคาเหมาะสมที่ 13.69 บาท ต่ำกว่าราคาหุ้นปัจจุบัน อีกทั้ง Div Yield ที่ 3.5% ไม่จูงใจเหมือนในอดีต จึงคงคำแนะนำ “ขาย” แต่เชื่อว่าประเด็นที่กลุ่มมิตซุยจากญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุนถือหุ้นใน TICON และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ROJNA อาจสร้างแรงหนุนเก็งกำไรต่อราคาหุ้นในระยะสั้นได้

 

Back to top button