เก็บ 2 หุ้นโรงพยาบาลตัวท็อป! รับประกันสังคม อัพค่าหัว 1,808 บ. ต่อปี ชู BCH รับเต็ม!

เก็บ 2 หุ้นโรงพยาบาลตัวท็อป!  รับประกันสังคม อัพค่าหัวบริการอัตราเหมาจ่าย 1,808 บาทต่อปี ชู BCH รับเต็ม! ฐานผู้ป่วยมากกว่า 1.05 ล้านราย เริ่มใช้ 1 พ.ค.นี้


บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (11 เม.ย.66) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 66 กำหนดอัตราค่าบริการเหมาจ่ายแก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในอัตรา 1,808 บาทต่อผู้ประกันตนต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 66 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าบริการเหมาจ่ายดังกล่าวสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 7-8% หรือคิดเป็น 10.2% จากอัตราปัจจุบันที่ 1,640 บาท

ทั้งนี้มองการเพิ่มขึ้นของอัตราจ่ายที่สูงกว่าการคาดการณ์จะเป็นอานิสงส์บวกอย่างมากแก่โรงพยาบาลขนาดเล็กกลาง ที่มีรายได้จากโครงการประกันสังคม โดยเฉพาะ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ตามด้วย บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG  โดยชู BCH เป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุด

อนึ่งก่อนหน้านี้ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ BCH เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคมอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราเหมาจ่ายรายหัวของประกันสังคมปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 8-10% จากเดิมอยู่ที่ 1,640 บาทต่อหัว และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566 ว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการรอรายละเอียดของการเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเป็นการปรับรายหัวจากส่วนที่ต้องจ่ายรายเดือน โดยหากมีการปรับเพิ่มขึ้นจริงจะส่งผลดีต่อรายได้ในส่วนของประกันสังคมของเครือโรงพยาบาล BCH โดยตรง และเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฐานผู้ป่วยประกันสังคมเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย

โดยปัจจุบันบริษัทมีผู้ป่วยประกันสังคมที่ลงทะเบียนในระบบเครือโรงพยาบาล BCH มากกว่า 1.05 ล้านราย จากโควตาทั้งหมด 1.55 ล้านราย ถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และมองว่าในปี 2566 ผู้ป่วยประกันสังคมจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น ขยายตัวจากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง มีผู้ป่วยประกันสังคมแตะ 100,000 ราย เป็นต้น นอกจากนี้จะได้ผลบวกจากการปรับราคา 5 กลุ่มโรคยากที่มีค่าใช้จ่ายสูง (AdjRW≥2) หลังมีการปรับค่ารักษาขึ้นไปถึง 25% ถือว่าค่อนข้างสูง จะส่งผลดีต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเครือโรงพยาบาล BCH เป็นการดูแลระดับตติยภูมิ (Tertiary Care)

ขณะที่แผนการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีรายได้เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก แตะ 13,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนเกิดโควิด-19 หรือเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้รวม 8,996.28 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2566 จะเป็นปีที่ไม่มีรายได้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้ว เพราะรวมอยู่ในโรคปกติ

ทั้งนี้ ในปี 2566 รายได้ที่เติบโตเป็นผลมาจากฐานผู้ป่วยปกติที่ฟื้นตัวมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ส่วนผู้ป่วยกลุ่มประกันสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน รวมไปถึงผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของผู้ป่วยฝั่งประเทศซาอุดีอาระเบียที่เริ่มเข้ามารักษากับทางโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) และผู้ป่วยชาติอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีแผนร่วมมือกับเอเจนซี่ และสถานทูตอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ส่วนโรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจากผลกระทบเงินเฟ้อในลาวที่เพิ่มขึ้น แต่มองความเสี่ยงยังต่ำ เพราะมีการจ่ายเงินตามอัตราแลกเปลี่ยนตามวันนั้น ๆ

ส่วนที่บริษัทมีการเปิดตัวศูนย์ศัลยกรรมความงาม “Kasemrad Plastic Surgery By Bujeong” ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ บริษัทตั้งเป้าหมายจะสร้างรายได้ 10 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการ 9 วัน สามารถทำรายได้มากกว่า 4 ล้านบาท ถือว่าได้การตอบรับที่ดีมาก โดยคาดว่าในปี 2566 จะสร้างรายได้ 100 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2567 และมีแผนเปิดสาขา 2 ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ รวมไปถึงสาขาอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

สำหรับการขยายธุรกิจในปี 2566 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนขยายโรงพยาบาลใหม่ประมาณ 10% งบลงทุนซ่อมบำรุงประมาณ 30% และงบลงทุนปรับปรุงโรงพยาบาลเดิมประมาณ 60% โดยบริษัทพร้อมที่จะเริ่มลงทุน 2 โครงการใหม่ ได้แก่ ศูนย์มะเร็งเกษมราษฎร์ อารีย์ รังษีรักษา นนทบุรี (ศูนย์ส่งต่อรังสีรักษาจากโรงพยาบาลหลักไม่มีเตียง) ใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท คาดเปิดใช้งานในปี 2567 และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุวรรณภูมิ ขนาดบริการ 268 เตียง ใช้งบลงทุน 1,650 ล้านบาท คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2570

ทั้งนี้ กลยุทธ์ในระยะสั้นและระยะยาวของเครือโรงพยาบาล BCH แบ่งออกเป็น 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.การขยายโรงพยาบาลแห่งใหม่เพิ่มเติม ซึ่งมีแผนขยายโรงพยาบาลใหม่ 5 แห่ง ภายในระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570) จะทำให้มีจำนวนเตียงที่ได้รับอนุญาตบริการรวมเพิ่มขึ้นเป็น 3,100 เตียง ภายใต้ 20 โรงพยาบาล จากปัจจุบันมีจำนวนเตียงที่ได้รับอนุญาตบริการรวม 2,254 เตียง ภายใต้ 15 โรงพยาบาล

โดยการขยายโรงพยาบาลแห่งใหม่ ส่วนใหญ่จะเน้นเข้าไปยังพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้บริการ และขยายความครอบคลุมฐานผู้ป่วย เช่น การขยายโรงพยาบาลที่พัทยากลาง เนื่องจากมีที่ดินเดิมอยู่แล้วบนพื้นที่ 16 ไร่ เป็นที่ดินที่เคยขออนุญาตสร้างโรงพยาบาล และได้ขอแบบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ได้ชะงักไป เพราะบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ซึ่งจะนำมาปัดฝุ่นโครงการใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมทีม คาดว่าจะสร้างโรงพยาบาลขนาดไม่ต่ำ 150 เตียง

ขณะที่ มีแผนการขยายโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยบริษัทจะเป็น 1 ใน 2 ของเครือโรงพยาบาลเอกชนที่จะเข้าไปประมูลในโครงการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 บนพื้นที่ 29 ไร่ ประมาณเดือน พ.ค. 2566 ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและภาคเอกชน (PPP) ด้านสาธารณสุขในโซน EEC หากสามารถชนะประมูล บริษัทคาดว่าจะก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง แต่หากไม่ชนะประมูล บริษัทมีแผนเดิมที่ศึกษาเข้าไปสร้างโรงพยาบาลเงินสดเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าวในอนาคตอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีฐานประกันสังคมที่ใหญ่มาก

2.การเพิ่มประสิทธิภาพในโรงพยาบาลแห่งเดิม และเปิดศูนย์เฉพาะทางมากขึ้น,3.การเข้าทำสัญญากับหน่วยงานต่าง ๆ และ4.ขับเคลื่อนธุรกิจตามนโยบายและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG)

Back to top button