SCGP โบรกแนะ “ซื้อ” เป้า 33 บาท ลุ้นกำไรปีนี้ 5.1 พันล้าน รับปริมาณขายหนุน

SCGP โบรกชี้กำไรปี 67 แตะ 5.1 พันล้านบาท รับปริมาณขายเพิ่มขึ้น และ GPM สูงขึ้น โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 33 บาท


บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ คงคำแนะนำ “ซื้อ” บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ที่ราคาเป้าหมายปี 68 ที่ 33.00 บาท อิงค่า PER ในปี 68 ที่ 24.10 เท่า

โดยหลังจากบริษัทรายงานกำไรที่อ่อนแอในไตรมาส 3/67 ที่ 677 ล้านบาท ลดลง 56% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และลดลง 60% จากไตรมาสก่อนหน้า หากไม่รวมรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกำไรปกติจะอยู่ที่ 678 ล้านบาท ลดลง 52% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และลดลง 55% จากไตรมาสก่อนหน้าต่ำกว่าที่ consensus และคาด 30% และ 19% ตามลำดับ โดยกำไรลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

หลักๆ มาจากต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (RCP) ที่สูงขึ้น ในขณะที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามแนวโน้มปริมาณขายที่อ่อนตัวและการรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัท PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ที่สูงขึ้น (หลังบริษัทเพิ่มสัดส่วนถือครองเป็น 99.7% ตั้งแต่ 30 ส.ค.67)

อย่างไรก็ดี ยังคงมุมมองว่าไตรมาสนี้จะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้แล้ว และบริษัทจะเห็นปริมาณขายที่ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จากอุปสงค์การสะสมคลังสินค้า (stocking) ตามปัจจัยฤดูกาล อีกทั้ง บริษัทน่าจะเห็นต้นทุนที่ต่ำลงจากผลกระทบที่ล่าช้า(lagged effect) แม้ว่าบริษัทจะมีมุมมองเชิงอนุรักษ์นิยมมากขึ้นว่า Fajar จะถึงจุดคุ้มทุน (breakeven) ได้ในไตรมาส 2/68 (จากเดิมคาดไตรมาส 4/67)

ทั้งนี้คงประมาณการกำไรสุทธิปี 67 อยู่ที่ 5.1 พันล้านบาท และในปี 68 อยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในปี 66 อยู่ที่ 5.2 พันล้านบาท โดยมีสมมติฐานที่สำคัญ คือ 1) ปริมาณขายรวมจะอยู่ในช่วง 5.7-5.9 ล้านตัน (mt) ในปี 67-68 เทียบกับ 5.5 mt ในปี 66

นอกจากนี้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) จะอยู่ในช่วง 18%-18.30% จาก 17.90% ในปี 66 ตามราคาขายเฉลี่ย (blended ASP) ที่ลดลงอยู่ในช่วง 649-665 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จาก 676 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 66 และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 12.10%-12.30% เมื่อเทียบกับ 12.10% ในปี 66

โดยเชื่อว่าบริษัทจะเห็นปริมาณขายและ GPM ที่สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในไตรมาส 4/67 ตามปัจจัยฤดูกาลและผลกระทบจาก lagged effect ของต้นทุน

Back to top button