“ธุรกิจสตรีมมิ่ง” ล้มผังผลิตละครไทย

“ช่องทีวี” ยักษ์ใหญ่ ชะลอการถ่ายละครในช่วงครึ่งหลังปี 67 เริ่มคืนคิวผู้จัด นำละครเก่ามารีรัน หลังธุรกิจสตรีมมิ่งเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมคนดู ฟาก “บอย ถกลเกียรติ” ปรับทัพ ธุรกิจละครช่อง ONE ยิ้มรับ ละคร” ทองประกายแสด” หนุนกำไรไตรมาส 3


กลายเป็นประเด็นที่แฟนละครทั้งรุ่นใหญ่ และวัยรุ่น ต่างพากันสนใจ หลังจากที่มีข่าวว่า (ช่อง 3) บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ชะลอการถ่ายทำละครในช่วงครึ่งหลังปี 67 ทั้งหมด โดยมีการคืนคิวผู้จัด นำละครเก่ามารีรัน ทั้งนี้ช่อง 3 ให้เหตุผลว่า มีละครสต็อกในช่องค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องให้เรื่องใหม่ๆ ของช่องที่จะเปิดและเพิ่งเปิดขยับเลื่อนออกไป

โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่ช่อง 3 แม้แต่ช่อง 8 ก็มีการชะลอการสร้างละครเช่นเดียวกัน ส่วนช่อง 7 ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทุกวันนี้มีแต่ละครรีรัน ส่วนช่องวัน 31 ที่ดูมีภาษีดีกว่าใครเพื่อน เพราะละครสร้างทั้งปรากฎการณ์และเรตติ้ง มีละครหลายเรื่องที่กำลังถ่ายทำ

ปฎิเสธไม่ได้ว่า เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจการผลิตละครไทย เริ่มชะลอตัว มาจากการให้บริการคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-Top หรือ OTT) หรือแพลตฟอร์ม “สตรีมมิ่ง” เริ่มรุกคืบ ตีตลาดธุรกิจโทรทัศน์ โดยเฉพาะ เรื่องเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลออกไปพร้อมกับกลุ่มผู้ชมที่อาจดูทีวีช่องต่าง ๆ น้อยลง

Bela Bajaria ผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ของ Netflix ให้สัมภาษณ์กับหลายสำนักข่าวต่างประเทศว่า ตั้งแต่เริ่มเข้ามาวงการนี้ในปี  ค.ศ.1996 ทุกคนบอกว่า โทรทัศน์กำลังจะตาย แต่ตอนนี้คนดูโทรทัศน์ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะคอนเทนต์กีฬาและข่าว แต่แน่นอนว่า ในอนาคตอันใกล้ส่วนแบ่งเม็ดเงินจะลดลง จำนวนผู้ชมจะลดลง เพราะ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ที่เข้ามาแทนที่ แต่ธุรกิจโทรทัศน์จะไม่หายไปแน่นอน คอนเท็นต์ในรูปแบบแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งนั้น กฎในการจำกัดกรอบในการนำเสนอน้อยกว่าทีวี จึงทำให้นำเสนอเรื่องราวได้หลากหลาย และ ดึงดูดเม็ดเงินได้มากกว่า

จากคำสัมภาษณ์ของ ผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ของ Netflix ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจการผลิตละครไทย ไปต่อไม่ได้ เพราะ ถูกควบคุมด้วยกฎยิบย่อย มิหนำซ้ำ ยังรวมไปถึง ดาราไม่ดึงดูดมากพอ โฆษณาก็ไม่ซื้อ ชีวิตคนทำทีวีที่ถูกกำหนดชะตาด้วยสปอนเซอร์ จึงทำให้เสียเปรียบแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีกฎกติกา กสทช. ครอบให้อยู่ในกรอบ ยิ่งทำให้ละครในจอ ไม่สามารถเล่าเรื่องราวฉีกออกไปได้ ไม่สามารถเจาะให้ลึกถึงความเน่าเฟะของหลายๆ วงการได้ ขณะที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง กล้าพูด กล้านำเสนออย่างไร้ขีดจำกัด

นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ ONEE เปิดเผยว่า คนเปิดช่องทีวีในโทรทัศน์อาจน้อยลง แต่คนดูคอนเทนต์ไม่ได้น้อยลง เพียงแต่กระจายไปตามช่องทางต่าง ๆ จึงต้องทำคอนเทนต์ให้ออกสู่ทุกแพลตฟอร์ม เช่น ละคร ต้องออกบนทีวีได้ แต่ก็ต้องทำให้คนที่ไม่ได้เปิดทีวี อยากเข้าไปดูย้อนหลังได้ด้วย

ส่วนกรณีใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะหมดอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2572 นั้น ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดจากทาง แกสทช. แต่ในส่วนของบริษัท เตรียมแนวทางปรับตัว ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดียอื่นรองรับ รวมถึงแอปพลิเคชั่น OneD

ผลประกอบไตรมาส 3/67 คาดว่าเติบโตโดดเด่น รับผลดีจากจากซีรีย์ “ทองประกายแสด” ได้รับความนิยม เรทติ้งดีในช่วงเวลาไพร์ไทม์ และ สำหรับรายได้ในปีนี้คาดว่าจะโต 5-10% จากปีก่อนหน้ามีรายได้ 6.5 พันล้านบาท ” นายถกลเกียรติ กล่าว

ส่วนในช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3,093.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.25% จากงวดเดียวของปีก่อนมีรายได้รวม 3,025.44 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 151.19 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นจาก นายเอกชัย เอื้อครองธรรม โปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ “เด็กใหม่ ” มองว่า ยุคนี้เป็นยุคของการผลิตคอนเทนต์ให้ฉายได้แบบ “มัลติแพลตฟอร์ม” หรือรองรับช่องทางการรับชมที่หลากหลาย เพราะคอนเทนต์ที่ดีจะดึงผู้ชมให้อยู่บนช่องทางไหนก็ได้ แม้สตรีมมิ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ทีวีจะยังคงอยู่ไปอีกนาน เพราะมีจุดเด่นเรื่องการสร้าง Appointment View หรือการรับชมแบบมีกำหนดการชัดเจน เพียงแต่รูปแบบการนำเสนออาจเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

จากข้อมูล และบทสัมภาษณ์ของคนในวงการทีวีและผู้ผลิตละคร ได้สะท้อนความคิดเห็นออกมานั้น ทำให้ได้ข้อสรุปได้ว่า หากธุรกิจละครไทยอยากรอด ต้องหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ตามยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป และ ต้องนำเสนอในหลากหลายแพลตฟอร์มมากขึ้น

Back to top button